084-458-4591

อาการสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุเกิดจากอะไร? พร้อมวิธีการรักษา

เนื้อหาบทความนี้

สัญญาณเตือนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกับอาการผู้ป่วยสโตรก เช่น แขนขาอ่อนแรง เกิดอาการชาบริเวณใบหน้าจนควบคุมไม่ได้ พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว  มึนงงสับสน มองเห็นไม่ชัด หากพบเห็นผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะโรคหลอดเลือดในสมองเปรียบเสมือนระเบิดเวลา ที่รักษาช้าไปแม้เพียงไม่กี่นาทีก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น บทความนี้จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอาการสโตรกว่ามีสาเหตุและลักษณะอาการอย่างไร

ผู้ป่วยที่มีอาการสโตรก คืออะไร

โรคหลอดเลือดสมอง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า สโตรก คือภาวะที่สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากการที่หลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้เซลล์สมองถูกทำลายเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  และส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การควบคุมอวัยวะต่าง ๆ การพูดจา การมองเห็น ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันภายใน 4 ชั่วโมงหลังมีอาการ จะมีโอกาสรักษาหายและกลับมาเป็นปกติได้  

อาการสโตรก เกิดจากสาเหตุใด

เส้นเลือดในสมองตีบ อาการเริ่มแรก อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วดีขึ้นหรือหายได้เอง แต่นั่นก็คือสัญญาณเตือนที่ไม่ควรละเลย โดยวิธีสังเกตอาการให้จำง่าย ๆ ว่า “BEFAST” ซึ่งย่อมาจากอาการ ดังนี้

B – Balance สูญเสียการทรงตัว เดินเซ เดินชน เวียนศีรษะ

E – Eyes ตามัว ตาพร่า เห็นภาพซ้อน สูญเสียการมองเห็นแบบเฉียบพลัน  

F – Face ใบหน้าชา ปากเบี้ยว มุมปากตก 

A – Arm แขนขาชา มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก

S – Speech พูดไม่ชัด นึกคำที่จะพูดไม่ออก พูดหรือฟังไม่เข้าใจ มึนงง สับสน

T – Time รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะทุกนาทีคือโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีชีวิตรอด

สาเหตุของอาการสโตรก ส่วนใหญ่มักมาจากความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว และยังพบมากในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือสูบบุหรี่จัด นอกจากนี้อาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งมักจะพบในกลุ่มคนอายุน้อย การตรวจสุขภาพเป็นประจำ และหมั่นดูแลสุขภาพอยู่เสมอ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันอาการสโตรกได้

โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) มีกี่ประเภท

โรคหลอดเลือดสมอง ไม่สามารถจำแนกได้จากอาการผู้ป่วยสโตรก เพราะมีลักษณะคล้ายกัน จึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ โดยหลัก ๆ จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • อาการสโตรกจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) เกิดจากลิ่มเหลืออุดตัน หรือมีไขมันเกาะสะสมบริเวณผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก จนสมองเกิดภาวะขาดเลือด มักพบในผู้ที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง
  • อาการสโตรกที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) อาการสโตรกประเภทนี้พบได้น้อยกว่า และมักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากหลอดเลือดเปราะบาง ขาดความยืดหยุ่น ประกอบกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดโป่งพองจนแตก เลือดจึงไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง และมีเลือดบางส่วนไปกดเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทสมอง

 ระยะสโตก มีอะไรบ้าง

ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

1. เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกเฉียบพลัน

คือ ระยะแรก ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์หลังเกิดอาการสโตรก การบำบัดผู้ป่วยคือ ให้นอนอยู่บนเตียง เพื่อป้องกันและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะทำการประเมินความรุนแรงของอาการ เช่น การเคลื่อนไหว อาการชา อาการอ่อนแรง เพื่อวางแผนการรักษาฟื้นฟูที่เหมาะสมต่อไป

2. เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกระยะฟื้นตัว

คือ ระยะ 3-6 เดือนหลังจากเกิดอาการสโตรก เป็นช่วงที่ต้องเร่งฟื้นฟูผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้เซลล์สมองกลับมาทำงานตามปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มเคลื่อนไหว ขยับร่างกาย นั่งทรงตัวบนเตียง และพูดคุยได้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำกายบำบัด เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากที่สุด

3. เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกระยะทรงตัว

คือ ระยะหลัง 6 เดือน หรือหลังจากระยะฟื้นตัว ความผิดปกติบางอย่างไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้เป็นปกติ และมีโอกาสสูงที่ความบกพร่องนั้นจะติดตัวผู้ป่วยไปตลอดชีวิต แต่ผู้ป่วยยังคงต้องทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องแม้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว เพื่อไม่ให้อาการเหล่านั้นทรุดลงไปกว่าเดิม รวมถึงรักษาสมรรถภาพร่างกายที่ฟื้นฟูมาให้แข็งแรงต่อไป

อาการสโตรกรักษาหายไหม

วิธีรักษาอาการสโตรก แพทย์จะทำการวินิจฉัย โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ทำ CT Scan หรือ MRI เพื่อดูว่าเป็นอาการสโตรกประเภทไหน มีเลือดออกในสมองหรือไม่ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยภายใน 4 ชั่วโมง โอกาสหายก็จะมีมากขึ้น จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีที่ต่าง ๆ เช่น

  • รักษาด้วยยา เช่น ให้ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดความดัน  ยาลดไขมัน 
  • ผ่าตัดสมอง 
  • ใส่สายสวนหลอดเลือดแดง และใช้ขดลวดช่วยเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออก
  • ใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด และใส่ขดลวดเพื่อถ่างหลอดเลือดที่ตีบ
  • ทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูหลังผู้ป่วยอาการดีขึ้น

ดังนั้นการมีสุขภาพที่แข็งแรงจะเป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวเป็นอย่างมาก ควรหมั่นดูแลร่างกายหรือออกกำลังกายอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้เกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ง่าย และใครก็ตามที่มีปัญหาด้านสมองและต้องการรับการทำกายภาพบำบัดสามารถเข้ารับการปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ 099 631 8668 หรือ BECOS : บริการจัดส่งนักกายภาพบำบัด ไปที่บ้านและองค์กร 

คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับอาการสโตรก

สโตกมีกี่แบบ

อาการสโตรก หลัก ๆ แบ่งได้ 2 แบบ คือ 
อาการสโตรกจากสมองขาดเลือด ซึ่งแบ่งแยกย่อยได้เป็นอาการสโตรกที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ และหลอดเลือดสมองอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้  
อาการสโตรกจากเลือดออกในสมอง เกิดจากเส้นเลือดฉีกขาดหรือแตกออก จนทำให้เลือดไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเส้นเลือดอ่อนแอ เปราะบาง จากอายุที่มากขึ้น โรคความดันโลหิตสูง หรือความผิดปกติของหลอดเลือดที่มีมาแต่กำเนิด

อาการสโตรกมีโอกาสหายไหม

หากนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล และทำการรักษาได้ทันเวลา ก็จะมีโอกาสหายจากอาการสโตรก และลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือความพิการต่าง ๆ ตามมาได้